Blog 5(11-2-62) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
Blog 5(11-2-62)
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีดังนี้
“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้หมายความรวมถึง
1) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐต่างประเทศหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
2) กิจการร่วมค้าซึ่งได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
3) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
4) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ปัจจุบันยังไม่มีประกาศกำหนดให้นิติบุคคลอื่นมีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล)
จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถแยกตามประเภทของนิติบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย ได้ดังนี้
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยนั้น หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายบริษัทมหาชนดังนี้
1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
1.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด
1.3 บริษัทจำกัด
1.4 บริษัทมหาชนจำกัด
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ประเทศไทย ดังนี้
2.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขาประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย สาขาของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคสอง) เป็นต้น
2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยโดยตรง แต่ได้มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ให้ถือว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้ลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าวให้กับประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)
อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทต่างประเทศที่ถือหุ้นสามัญในบริษัทไทย เฉพาะเพียงการถือหุ้นยังไม่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย
2.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ต้องนำเงินได้ดังกล่าวเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย (มาตรา 70)
2.4 กิจการที่ดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร โดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร เมื่อเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการมาโดยการตั้งสาขาหรือตัวแทนอื่นใดก็ตาม เช่น รัฐบาลต่างประเทศได้เข้ามาตั้งหน่วยงานเพื่อส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย เช่นนี้ก็ถือว่า เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร
- กิจการร่วมค้า สำหรับกิจการร่วมค้านี้ไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้กิจการร่วมค้ามีฐานะเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ประมวลรัษฎากรเท่านั้นที่บัญญัติให้กิจการร่วมค้าอยู่ในนิยามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยลักษณะของกิจการร่วมค้าจะคล้ายคลึงกับห้างหุ้นส่วน แต่จะมีความแตกต่างที่ห้างหุ้นส่วนจะมีผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนกิจการร่วมค้าประมวลรัษฎากรได้ระบุให้ต้องเป็นการเข้าร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป และอย่างน้อยจะต้องมีนิติบุคคลหนึ่งนิติบุคคลเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการค้ากัน เช่น
บริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบริษัท หรือ
บริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา หรือ
บริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ
บริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น….เป็นต้น
- มูลนิธิและสมาคม โดยปกติมูลนิธิและสมาคมจะตั้งขึ้นโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการได้ ประมวลรัษฎากรจึงกำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายโดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงสมาชิก และเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หา
ตัวอย่างที่ 3.1 บริษัท การะเกด จำกัด เป็นตัวแทนบริษัท ฟ้าสวย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าการทำสัญญาขายสินค้าระหว่างบริษัท ฟ้าสวย จำกัด กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเมื่อบริษัท ฟ้าสวย จำกัด ส่งสินค้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเปิดแอล/ซี ชำระค่าสินค้าโดยตรงไปยังบริษัท ฟ้าสวย จำกัด
ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือได้ว่า บริษัท ฟ้าสวย จำกัด (บริษัทต่างประเทศ) ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีบริษัท การะเกด จำกัด (บริษัทในประเทศไทย) เป็นผู้ทำการแทนหรือทำการติดต่อ จนเป็นเหตุให้บริษัท ฟ้าสวย จำกัด ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย บริษัท ฟ้าสวย จำกัด จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยบริษัท กข จำกัด ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ฟ้าสวย จำกัด เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าวให้กับประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)
ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถสรุปตามลักษณะได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- นิติบุคคลที่ไม่อยู่นิยาม “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 อาทิ
1.1 กลุ่มเกษตรกรซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์
1.2 หอการค้าที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509
1.3 ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารสงเคราะห์
1.4 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
1.5 บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
1.6 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
1.7 บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
1.8 การเคหะแห่งประเทศไทย
1.9 วัดวาอาราม
1.10 กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น
- ผู้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่น หมายถึง นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่น อาทิ
2.1 นิติบุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้ หรือจะได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ
2.2 นิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ เช่น โครงการ JUSMAC ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
2.3 สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล องค์การสหประชาชาติและอื่นๆ
2.4 มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลพระพุทธบาท มูลนิธิคนพิการไทย โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เป็นต้น
2.5 กิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
———————————————————————————————————————-
171 total views, 1 views today