การวิจัยถอดบทเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริการจัดการที่ดีประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ : กรณีศึกษาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
การวิจัยถอดบทเรียน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริการจัดการที่ดีประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑
: กรณีศึกษาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพงศ์ มีสมนัยและอาจารย์เพ็ญศรี มีสมนัย
๑. ผลสำเร็จในการบริหารจัดการ
สำหรับผลสำเร็จในการบริหารจัดการของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเกิดจากการดำเนินงานที่มุ่งเน้นด้านความโปร่งใสและการยึดถือกฎหมายในการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน เครือข่ายความร่วมมือ และการกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง การปรับปรุงภารกิจ การลดขั้นตอน และการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและเน้นที่ความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรบริหาร ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการประชาชน และการยึดมั่นกับความพึงพอใจของประชาชน สามารถสรุปได้ดังนี้
๑) ผลสำเร็จด้านการบริหารจัดการ การบริหารจัดการบริการสาธารณะตามพันธกิจที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาลและกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ประสบผลสำเร็จในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ความโปร่งใสและการยึดถือกฎหมายในการปฏิบัติงาน เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดดำเนินการบริหารงานตามพันธกิจโดยยึดหลักความโปร่งใสและยึดถือกฎหมายในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น จัดให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการทำงานของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดการอบรมพนักงานเทศบาลเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและสามารถนำไปปฏิบัติงานได้ถูกต้องนอกจากนี้เทศบาลยังได้คัดเลือกผู้แทนชุมชนเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกันนี้ก็ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดทราบและยึดถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดที่ผ่านมาอย่างโปร่งใสยังไม่เคยถูกชี้มูลความผิดใดๆ โดยหน่วยตรวจสอบ เช่น สตง. เป็นต้น
(๒) การมีส่วนร่วมของประชาชน เครือข่ายความร่วมมือ และการกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง ในส่วนนี้เทศบาลสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการประชุมประชาคมเพื่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และมีส่วนร่วมของประชาชยในการประชุมสภาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลการดำเนินงานของเทศบาลอีกด้วย พร้อมกันนี้เทศบาลยังได้ดำเนินการร่วมกับ อปท. หรือองค์กรอื่นๆ ในการจัดบริการสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนโดยได้มอบหมายให้ภาคชุมชน/องค์กรประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนเทศบาลเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนหรือเพื่อการจัดบริการสาธารณะได้รวดเร็ว ประหยัด และบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ผลการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้การให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม
(๓) การปรับปรุงภารกิจ การลดขั้นตอน และการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน การดำเนินงานในส่วนนี้เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ดำเนินการปรับลดขั้นตอนและ/หรือระยะเวลาการให้บริการประชาชนลงได้ร้อยละ ๕๕ จากขั้นตอนและเวลาให้บริการมาแต่เดิม พร้อมกันนี้ก็ได้ทบทวนภารกิจในการให้บริการประชาชนพร้อมกับอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยปรับปรุงและลดขั้นตอนการให้บริการประชาชนด้านต่างๆ ลงเหลือเท่าที่จำเป็น ภารกิจใดที่องค์การเอกชนสามารถดำเนินการได้เทศบาลได้ถ่ายโอนภารกิจโดยการจ้างเหมา(outsource) เช่นการให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการส้วมสาธารณะแทนเทศบาลเพื่อให้มีส้วมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย พอเพียงและปลอดภัยตามมาตรฐาน HAS ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้อำนวยความสะดวกในการบริการประชาชนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่หลายด้าน เช่น การจัดทำเว็บไซต์ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดโดยการนำเสนอข่าวสารกิจกรรมของเทศบาลในปัจจุบันแบบ real time พร้อมกับจัดให้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นสำหรับประชาชนและยังได้จัดให้มีระบบอำนวยความสะดวกในการรับชำระภาษีในระบบออนไลน์ และมีช่องทางด่วนการให้บริการงานทะเบียนและบัตรแก่ประชาชน
(๔) การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ดำเนินการวิเคราะห์ความคุ้มค่า/ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากโครงการลงทุนของเทศบาลตามหลักวิชาทุกโครงการและเลือกดำเนินโครงการเฉพาะที่มีความคุ้มค่าและสามารถปฏิบัติได้จริง มีการรักษาวินัยทางการเงินการคลังโดยใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า เทศบาลเองก็ไม่มีโครงการที่ก่อหนี้ใดๆ จึงไม่มีภาระหนี้ระยะยาวแต่อย่างใด ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเทศบาลได้จัดทำรายงานสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างปีงบประมาณ ๒๕๖๐ พร้อมวิเคราะห์ประสิทธิภาพประสิทธิผลของการจัดซื้อจัดจ้างรายงานต่อสภาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบผ่านเว็บไซต์ของเทศบาล พร้อมกับพัฒนารายได้โดยสามารถจัดเก็บภาษีตามที่กฎหมายกำหนดให้เทศบาลสามารถดำเนินการได้เองมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีลูกหนี้ค้างชำระภาษีแก่เทศบาลแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ได้ยึดถือปฏิบัติการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นตามหลักการของระบบคุณธรรม ส่งผลให้ไม่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสอบคัดเลือก การโอนย้าย การปรับระดับ การบรรจุแต่งตั้ง หรือการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์แต่อย่างใด
(๕) ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการประชาชน เทศบาลได้นำโครงการที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเทศบาล ๓ ปี มาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๐ ได้ถึงร้อยละ ๗๘.๒๖ ของโครงการที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนา ๓ ปี พร้อมกับดำเนินการตามแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้สำเร็จร้อยละ ๘๐.๑๙ ของโครงการทั้งหมดที่จะต้องดำเนินการ พร้อมกันนี้ก็ได้ติดตามผลการใช้จ่ายให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงจังและต่อเนื่องส่งผลให้ประชาชนได้รับการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ในลักษณะของ real time โดยเทศบาลประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบ หรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินงานหรือบริการสาธารณะที่จนบรรลุวิสัยทัศน์ของเทศบาล “บ้านเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ฟูมฟักตำนานเมือง ลือเลื่องวัฒนธรรม” ส่งผลให้ประชาชนในเขตเทศบาลมีคุณภาพชีวิตและมีมาตรฐานการดำรงชีพที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
(๖) ความพึงพอใจของประชาชน เทศบาลถือประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน หากกิจการใดที่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนแล้วเทศบาลถือเป็นเป้าเหมายที่ต้องดำเนินให้สัมฤทธิ์ผล พร้อมกันนี้ก็ได้ทำการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและขยายผิวจราจร ด้านการสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดทำโครงการหน่วยสาธารณสุขสัมพันธ์ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ และด้านการศึกษา ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ เป็นต้น พร้อมกันนี้ก็ได้นำผลประเมินไปใช้ปรับปรุง แก้ไข หรือต่อยอดการดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ เช่น การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เทศบาลโดยเพิ่มพื้นที่จอดรถสาธารณะและติดตั้งกล่องรับความคิดเห็นจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น และทำการปรับปรุงแบบฟอร์มหรือคำร้องต่างๆ ของโครงการสาธารณสุขสัมพันธ์ให้มีความชัดเจน เข้าใจง่าย มีการจัดระบบการให้บริการตามลำดับก่อนหลัง
๒) ปัจจัยหลักแห่ความสำเร็จในการบริหารจัดการ
ปัจจัยที่มีผลสำเร็จในการบริหารจัดการที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้มีปัจจัยที่สำคัญ ๒ ปัจจัยได้แก่ ปัจจัยทางด้านบุคคล และปัจจัยทางด้านองค์การและระบบงาน กล่าวคือ
(๑) ปัจจัยทางด้านบุคคล ประกอบด้วยปัจจัยย่อย ได้แก่ ผู้บริหารเทศบาล พนักงานเทศบาล และ ภาคประชาชนและเครือข่าย กล่าวคือ ก) ผู้บริหารเทศบาลได้แก่นายกเทศมนตรี เนื่องด้วยเป็นผู้นำที่จริงจังกับการทำงาน เกาะติดกับปัญหาและความต้องการของประชาชน พร้อมที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นโดยการทำงานร่วมกับสมาชิกสภาเทศบาล และพนักงานที่มีอุดมการณ์ที่ตรงกันและร่วมอุดมการณ์เดียวกันซึ่งเป็นถือเป็นตัวอย่างของการทำงานเป็นทีมที่ดี ใช้วิธีการทำงานแบบ “ร่วมคิด ร่วมทำ ยึดมั่นในอุดมการณ์”จน สามารถเป็นแบบอย่างให้กับทุกคนทุกฝ่ายในเรื่องของความมุ่งมั่นในการทำงานให้บริการประชาชน ข) พนักงานเทศบาล พนักงานทุกคนทุกตำแหน่งต่างปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของตนโดยยึดถือกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และประเพณีปฏิบัติของทางราชการเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติงานและพร้อมอุทิศตนและเวลาให้กับการทำงานบริการประชาชนและถือเอาปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องแก้ไขและให้บริการเต็มกำลังความสามารถ โดยเน้นการทำงานเป็นทีมในลักษณะ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ในทุกๆ เรื่อง และ ค) ภาคประชาชนและเครือข่าย ที่ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกำลังคน งานวิชาการ และ/หรืองบประมาณ เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ ของเทศบาลเหล่านั้นดำเนินการไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด พร้อมกันนี้ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ร่วมดำเนินการ และร่วมประเมินผลโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ของเทศบาลอีกด้วย
(๒) ปัจจัยองค์การและระบบงาน องค์ประกอบในส่วนนี้มีปัจจัยย่อยที่สำคัญอีก 2 ประการได้แก่ ๑) ปัจจัยด้านองค์การ และ ๒) ปัจจัยด้านระบบการดำเนินงาน กล่าวคือ ก) ปัจจัยด้านองค์การ ได้แก่ การจัดโครงสร้างองค์การและการบริหารงานบุคคลของเทศบาล ในด้านโครงสร้างองค์การนั้นจะเน้นหน้าที่
(organizational by functional) ทำให้สามารถดำเนินงานตามพันธกิจได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมภารกิจการให้บริการสาธารณะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในลักษณะที่เรียกว่า tiny but loud หรือ “จิ๋วแต่แจ๋ว”
ในส่วนของการบริหารงานบุคคลนั้นเทศบาลได้ดำเนินการโดยยึดมั่นการบริหารงานบุคคลในระบบคุณธรรมทั้งในด้านการจัดหา การพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการธำรงรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถสูง
ข) ปัจจัยด้านระบบการทำงาน ได้แก่ กฎหมาย ระเบียบ และประเพณีปฏิบัติที่ใช้เป็นแนวทางในการทำงานโดยที่ฝ่ายผู้บริหารปลูกฝังให้พนักงานยึดมั่นกับการทำงานที่เน้นความถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และยึดถือประเพณีปฏิบัติของทางราชการเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานเทศบาล ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับให้พนักงานเทศบาลยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน
๓) ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการ การดำเนินงานของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดประสบกับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ดังนี้
(๑) ปัญหาด้านการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรบริหาร ซึ่งเทศบาลยังไม่สามารถที่จะดำเนินการตราเทศบัญญัติที่ริเริ่มโดยภาคประชาชนได้ เช่น การจัดทำข้อบัญญัติต่างๆ เพื่อแสวงหารายได้ในแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้เทศบาลใช้เป็นแนวทางในการจัดหารายได้ในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ
(๒) ปัญหาด้านประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการประชาชนดังจะเห็นได้จากการที่เทศบาลยังไม่สามารถนำโครงการที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดระยะ ๓ ปีมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้ทั้งหมดแค่ทำได้เพียงร้อยละ ๘๐ เท่านั้น ทั้งนี้ มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของเทศบาลเอง ประกอบกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเองยังไม่สามารถดำเนินการประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบ หรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานหรือการจัดบริการสาธารณะที่มีต่อการพัฒนาชุมชุนต่างๆ ของเทศบาลได้ครบถ้วนในทุกมิติ
๔) แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการ
สำหรับแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีดังนี้
(๑) ปัญหาด้านการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร เพื่อแก้ไขปัญหาของเทศบาลยังไม่สามารถที่จะดำเนินการตราเทศบัญญัติที่ริเริ่มโดยภาคประชาชนได้ โดยเฉพาะจัดทำข้อบัญญัติต่างๆ เพื่อแสวงหารายได้ในแนวทางใหม่ๆ ให้แก่เทศบาล การแก้ไขทำได้โดยการสร้างความเข้าใจในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ของประชาชน และชี้แนวทางและวิธีการในการเสนอเทศบัญญัติที่ริเริ่มโดยฝ่ายประชาชนในระหว่างการประชุมประชาคม พร้อมกันนั้นควรจัดให้มีการอบรมสมาชิกสภาท้องถิ่นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และ/หรือจัดอบรมให้แก่พนักงานให้มีความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะทางเพื่อการปฏิบัติงานการบริการประชาชนหรือเพื่อการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง
๒. ปัญหาด้านประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการประชาชน ดังจะเห็นได้จากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดยังไม่สามารถนำโครงการที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๒) มาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้ถึงร้อยละ ๘๑ ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของเทศบาลดังกล่าวข้างต้น การแก้ไขปัญหาเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณนี้แม้ว่าทำได้ยากประกอบกับให้บริการสาธารณะตามพันธกิจของเทศบาลนั้นมีเป็นจำนวนมากซึ่งแต่ละด้านจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณสูงจึงจะสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย สำหรับแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้เทศบาลอาจดำเนินการจัดหารายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษี หรือเก็บจากค่าธรรมเนียมประเภทใหม่ๆ โดยสภาเทศบาลสามารถตราเทศบัญญัติเพื่อให้เทศบาลมีอำนาจในจัดหารายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ประเภทใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้เทศบาลยังอาจประสานงานกับองค์กรในภาคส่วนอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อรับการสนับสนุนทั้งทางวิชาการและงบประมาณสำหรับภารกิจ/บริการสาธารณะบางประเภท พร้อมกันนี้เทศบาลอาจพิจารณาถ่ายโอนภารกิจบางประเภทที่ประชาชน หรือเอกชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองให้เป็นผู้ดำเนินการแทนเทศบาลเพื่อลดภาระงบประมาณ และสามารถงบนำประมาณมาใช้จ่ายเฉพาะโครงการที่สำคัญ จำเป็น และเร่งด่วนจริงๆ เท่านั้น
๕. โครงการนวัตกรรม
เทศบาลได้จัดทำโครงการนวัตกรรมการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาและขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในเขตเทศเมืองร้อยเอ็ด
๖. วัตถุประสงค์
โครงการนวัตกรรมการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสมีวัตถุประสงค์เพื่อ
๑) ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษาตลอดจนส่งเสริมด้านการมีทักษะในการประกอบอาชีพ ๒) เพื่อให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้โดยมีทักษะและความรู้ทางวิชาการเพื่อการประกอบอาชีพ และ/หรือการศึกษาต่อในระดับสูงๆ ขึ้นไป ๓) ให้ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียน มีทักษะด้านภาษาสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ๔) ส่งเสริมให้มีทักษะทางด้านการกีฬา สามารถพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพและเป็นนักกีฬาทีมชาติ ๕) เสริมสร้างทักษะให้สามารถช่วยตนเองได้เต็มศักยภาพและไม่เป็นภาระและปัญหาของสังคม ๖) ให้เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ในอนาคต
๗.สภาพทั่วไปของพื้นที่
โครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการเดิมคือ“โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด” ที่ได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษาตลอดจนส่งเสริมด้านการมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้โดยมีทักษะและความรู้ทางวิชาการเพื่อการประกอบอาชีพ และ/หรือการศึกษาต่อในระดับสูงๆ ขึ้นไป เพื่อให้ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียน หรือมีทักษะด้านภาษาสามารถ หรือกีฬาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีทักษะทางด้านการกีฬา สามารถพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพและเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้สามารถช่วยตนเองได้เต็มศักยภาพและไม่เป็นภาระและปัญหาของสังคม เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ในอนาคต
๘.ประเด็นปัญหา
โครงการนวัตกรรมการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเกิดจากความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนบางคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลส่งเสริมในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม เช่น เด็กนอกห้องเรียน หรือเด็กวัยเรียนหายไปจากระบบการศึกษาปกติ เด็กหยุดเรียนกลางคัน หรือเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา เด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองยากจนทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในสถานศึกษาตามที่ควรจะเป็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เด็กที่มีความสามารถทางการกีฬา หรือทักษะทางภาษา หากเทศบาลปล่อยปละละเลย หรือไม่ดำเนินการใดๆ เลยเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองตามที่ควรจะเป็น และอาจกลายเป็นปัญหาของสังคมได้ในอนาคต
๙. กระบวนการแก้ไขปัญหาและปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ
(๑) กระบวนการแก้ไขปัญหา โครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการเดิมคือ“โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด” ที่ได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษาตลอดจนส่งเสริมด้านการมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้โดยมีทักษะและความรู้ทางวิชาการเพื่อการประกอบอาชีพ และ/หรือการศึกษาต่อในระดับสูงๆ ขึ้นไป มีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียน หรือมีทักษะด้านภาษาสามารถ หรือกีฬาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีทักษะทางด้านการกีฬา สามารถพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพและเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้สามารถช่วยตนเองได้เต็มศักยภาพและไม่เป็นภาระและปัญหาของสังคม เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ในอนาคต
จากปัญหาดังกล่าว ได้ถูกนำมาคิดวิเคราะห์และหาแนวทางรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเทศบาลได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานเทศบาล และประชาชน ผู้นำในชุมชน และตัวแทนชุมชนตลอดทั้งภาคีเครือข่ายเพื่อกำหนดวัตถุปสงค์ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ในท้ายที่สุดต่างเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องจัดทำโครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสที่ต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่เดิมซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ในระดับหนึ่งโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นการจัดทำโครงการ การดำเนินการโครงการ การประเมินผลโครงการจึงเป็นการดำเนินการร่วมกันขององค์กรและบุคคลทุกภาคส่วนในเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
(๒) ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสนั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ๑) คณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ได้พุดคุยเรื่องนี้ในหลายๆ ครั้ง เมื่อความคิดตกผลึกจึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โดยนายกเทศมนตรีเป็นผู้ริเริ่มความคิด ขายความคิด การจัดประชุมประชาคมจากฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งนำไปสู่การจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา ดังนั้นภาวะผู้นำแบบการกล้าคิด กล้าทำ พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาของผู้บริหารเทศบาล รวมทั้งการเห็นพ้องต้องกันของทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการนวัตกรรมนี้ประสบความสำเร็จ ๒) พนักงานเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีความตั้งใจและทุ่มเทความรู้ความสามารถของพนักงานทุกผู้ทุกนามที่พร้อมใจกันเป็นทีมงานในการดำเนินงานโครงการสัมฤทธิผลจึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการของโครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสบรรลุเป้าหมาย ๓) ภาคประชาชนและเครือข่าย ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ด้อยโอกาสให้มีความรู้และทักษะเพิ่มสูงขึ้นจากภาคประชาชนและเครือข่ายที่ประกอบด้วย ประชาชน ประชาสังคม และองค์กรในภาคส่วนอื่นที่ร่วมมือและให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ดังนั้นความร่วมมือร่วมใจและการสนับสนุนจากเครือข่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการนี้ประสบความสำเร็จ
๑๐. ปัญหาและอุปสรรคของนวัตกรรม
ปัญหาสำคัญที่เป็นภัยอุปสรรคและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๔ – ๒๕๖๐ รวมจำนวน ๗ ปีงบประมาณได้ใช้งบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการจำนวน ๒๐ หน่วยงานจำนวน ๖,๐๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากแม้ว่านายกเทศบาลให้ความสำคัญเฉพาะการใช้จ่ายเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นแล้วก็ตาม ปัญหางบประมาณดำเนินโครงการจึงถือเป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของการดำเนินโครงการนี้ให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
๑๑.บทสรุปของความสำเร็จและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(๑) ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการนวัตกรรมการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กล่าวคือ ๑) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษามีโอกาสได้รับการศึกษา การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาศักยภาพทางด้านการกีฬาและภาษาอย่างเท่าเทียมกัน ๒) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษามีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้านทั้งกลุ่มเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่ยากจน กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬาและภาษา ๓) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาได้รับการศึกษาและมีอาชีพที่ดี ๔) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาได้รับการเรียนรู้ มีวิธีคิดที่จะประกอบอาชีพและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม และ ๕) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการมีนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหารและสภาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด พนักงานเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดที่มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย และการสนับสนุนด้วยความเต็มอกเต็มใจจากภาคประชาชนและเครือข่ายของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด แม้ว่าจะต้องพบกับปัญหาเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการนี้บ้างก็ตาม
(๒) สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เป็นภัยอุปสรรคและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการเมื่อต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งในเรื่องนี้เทศบาลควรจัดหารายได้จากช่องทางอื่นเพื่อนำมาดำเนินการแทนที่จะใช้เงินจากงบประมาณ หรือเงินสะสมของเทศบาลอย่างที่เคยดำเนินการที่ผ่านมา เช่น การสร้างการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายในเรื่องการขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ หรือภาคประชาชนหรือเครือข่าย หรืออาจจัดหารายได้ในรูปแบบอื่น เช่น การจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อจัดหารายได้ให้กับโครงการ นอกจากนี้ควรที่จะต้องทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณใหม่และอาจต้องปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือฟุ่มเฟือยออกไปด้วย เป็นต้น
๑๒. การนำไปต่อยอดและการเผยแพร่นวัตกรรม
โดยสรุปในการดำเนินโครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการในรูปแบบการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างและเน้นการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของเทศบาลและเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ จนสามารถดำเนินโครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการดังจะเห็นได้จาก
๑) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษามีโอกาสได้รับการศึกษา การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาศักยภาพทางด้านการกีฬาและภาษาอย่างเท่าเทียมกัน
๒) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษามีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้านทั้งกลุ่มเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่ยากจนและกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬาและภาษา
๓) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาได้รับการศึกษาและคาดว่าจะมีอาชีพที่ดีในอนาคต
๔) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาได้รับการเรียนรู้ มีวิธีคิดที่จะประกอบอาชีพและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เองโดยไม่เป็นภาระแก่สังคม
๕) เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
ผลสำเร็จในการดำเนินโครงการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาสดังกล่าวข้างต้นนี้ได้ส่งผลให้เทศบาลในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกลายเป็นหน่วยงานที่มีการแนวทางในการปฏิบัติงานที่ดี(best practice) จนกระทั่งมี อปท. อื่นๆ ส่งคนมาดูงานเป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบที่ อปท.อื่นจะใช้วัดเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของตนเอง(bench-marking) ทางด้านการสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน สานฝันเด็กด้อยโอกาส
155 total views, 1 views today