ตรวจสุขภาพทางการเงินด้วยการบัญชี : กระบวนการ (2)
การตรวจสอบสุขภาพทางการเงินด้วยการบัญชี เพื่อให้นิติบุคคลทราบว่าสุขภาพทางการเงินของตนเกี่ยวกับสภาพคล่อง ประสิทธิภาพของการบริหารสินทรัพย์ ภาระผูกพันทางการเงิน ความสามารถในการทำกำไร และมูลค่าตลาด ดีหรือไม่ อย่างไร เพื่อปรับปรุงแก้ไขสุขภาพทางการเงินให้ดีขึ้น
กระบวนการของการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินด้วยการบัญชี หรือการวิเคราะห์งบการเงิน มีดังนี้
- ระบุวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์งบการเงินให้ชัดเจน ผู้วิเคราะห์ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ เช่น
1) สภาพคล่อง
2) ประสิทธิภาพของการบริหารสินทรัพย์
3) ภาระผูกพันทางการเงิน
4) ความสามารถในการทำกำไร
5) มูลค่าตลาด
- รวบรวมข้อมูลที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน มีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ทั้งข้อมูลภายในกิจการและภายนอกกิจการ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อสะดวกในการเปรียบเทียบ ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นต้องตอบวัตถุประสงค์ตามขั้นตอนที่ 1
- เลือกเทคนิคหรือวิธีการวิเคราะห์งบการเงิน แต่ละเทคนิคมีวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์แตกต่างกันไป จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่กรณีและต้องตอบวัตถุประสงค์และข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินมี 3 เทคนิคใหญ่ต่อไปนี้
1) การวิเคราะห์แนวดิ่ง
2) การวิเคราะห์แนวนอน
3) การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
เมื่อนำข้อมูลผลการวิเคราะห์มาเปรียบเทียบกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไปเรียกว่า การวิเคราะห์แนวโน้ม
- เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์งบการเงิน จากผลการวิเคราะห์ตามขั้นตอนที่ 3 นำมาเปรียบเทียบได้ 3 แนวทางดังนี้
1) เปรียบเทียบกับตนเอง ต่างงวดเวลากัน หรือการเปรียบเทียบแบบอนุกรมเวลา
2) เปรียบเทียบกับคู่แข่งขันหรือกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ณ งวดเวลาเดียวกัน
3) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเดียวกัน ณ งวดเวลาเดียวกัน
- แปลและสรุปผลการวิเคราะห์ จากการเปรียบเทียบตามขั้นตอนที่ 4 ผู้วิเคราะห์ต้องแปลผลว่าดีหรือไม่ดี มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แล้วสรุปผลการวิเคราะห์ให้ตรงตามขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนนี้ผู้วิเคราะห์ต้องอาศัยผลการวิเคราะห์และดุลยพินิจของตน สรุปผลการวิเคราะห์ในรูปรายงานผลการวิเคราะห์อาจมีแผนภูมิ กราฟ ประกอบด้วยก็ได้
919 total views, 2 views today