การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณ (Development of critical thinking)
การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณ (Development of critical thinking)
ในการพัฒนาการคิดเชิงจารณญาณ ผู้บริหาร บุคลากรหรือบุคคลทั่วไปสามารถพัฒนาตนเองเพื่อฝึกฝนนิสัยแห่งการเป็นนักคิดเชิงวิจารณญาณขึ้นมาได้ รายละเอียดมีดังนี้
- พัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยฝึกโต้แย้งความคิดเห็นของตน
ผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานต้องเป็นผู้มีใจที่เปิดกว้าง เผื่อใจไว้เสมอว่าสิ่งที่ตนคิดอ่าน ตัดสินใจอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล และต้องมีการท้าทายความคิดเห็นของตนเองเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดและอคติที่อาจเกิดขึ้นจากความเห็นของตน
2) พัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยเป็นผู้ที่เปิดใจกว้าง และไม่คิดว่าตนเองได้รับรู้หรือรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้นแล้ว
ในความเป็นจริงของหน่วยงาน ยังคงมีหลายละเอียดในหลากหลายด้านที่เราอาจจะยังไม่รับรู้ทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกองค์การ และจากบุคคลต่างๆที่มีความหลากหลาย ทั้งทัศนคติ และความเป็นจริงต่างๆที่มีข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบและรับทราบจำนวนมาก แต่ผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานควรเปิดใจเผื่อไว้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ สิ่งที่คนอื่นอาจจะรู้มากกว่ายังคงมีอยู่ หรือยังคงมีสิ่งที่ยังไม่ค้นพบในหน่วยงาน
3) การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยฝึกให้เป็นผู้มีความคิดรอบคอบไม่ด่วนสรุป ผู้บริหารในองค์การภาครัฐ และนักปฏิบัติที่ดี ควรอุปนิสัยในการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วยความรอบจากปรากฏการณ์ต่างๆ ในองค์กรหรือหน่วยงาน โดยที่ไม่ควรด่วนสรุป เพราะจะทำให้การติดสินใจมีความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริง
4) การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย
ผู้บริหาร และบุคลากรภาครัฐต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเสมอ และควรเป็นผู้ปรารถนาเสรีภาพทางความคิด ไม่มีข้อจำกัดทางความคิดจากกรอบประเพณี หรืออำนาจที่ทำให้ต้องเชื่อตามอย่างไม่มีเหตุผล การเป็นผู้มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวง่าย จะทำให้สามารถดำรงรักษา หลักการ ความถูกต้องและเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจที่มีคุณภาพ รวมถึงดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและพิทักษ์ผลประโยชน์อันชอบธรรมของหน่วยงานได้
5) การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยแสวงหาความรู้เพื่อตอบข้อสงสัย
ผู้บริหารและบุคลากรของรัฐควรเป็นผู้รักความรู้ ชอบค้นคว้าขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ มีลักษณะของผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องเป็นคนช่างสังเกต มีข้อสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อหรือคล้อยตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ และควรเป็นนักตั้งคำถามที่ดีต่อปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์การได้
6) ควรฝึกที่จะเป็นผู้ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองว่า “ฉันดีกว่า ฉันถูกกว่าผู้อื่นเสมอ”
การคิดเชิงวิจารณญาณจะถูกปิดกั้นหากผู้บริหาร หรือบุคลากรทั้งหลาย มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองว่า “ฉันดีกว่า ฉันถูกกว่าผู้อื่นเสมอ” คนที่มีแนวโน้มเอาตนเองเป็นศูนย์กลางในการวินิจฉัยให้เหตุผล มักคิดว่าสิ่งที่ตนคิดหรือนำเสนอนั้นนั้นดีกว่าคนอื่นและโดยธรรมชาติ การคิดในลักษณะนี้จะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้จากผู้อื่น ปิดกั้นการพิจารณาข้อเท็จจริง ทำให้เรามีความลำเอียงเข้าข้างตนเองซึ่งนับเป็นอุปสรรคของการคิดเชิงวิจารณญาณ
7) การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยฝึกที่จะหลีกเลี่ยงการเลือกรับข้อมูลเฉพาะที่สนใจ
ผู้บริหารหรือบุคลากรที่ดีควรรับข้อมูลให้ครบถ้วนจากทุกด้านและหลีกเลี่ยงการที่จะรับข้อมูลเฉพาะที่สนใจ เพราะถ้าบุคคลมีนิสัยการรับรู้เฉพาะเรื่องที่สนใจเท่านั้นจะเป็นอุปสรรคปิดกั้นการคิดเชิงวิจารณญาณได้ ทำให้เราเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลที่เราสนใจ แทนที่จะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างครบถ้วน
8) การพัฒนาการคิดเชิงวิจารณญาณโดยให้เป็นผู้ที่ไม่ลำเอียงกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝั่งหนึ่งฝั่งใด
ผู้บริหารหรือบุคลากรที่ดีต้องเปิดใจกว้างรับข้อมูลและพิจารณาตัดสินในประเด็นนั้นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ขึ้นกับบุคคลที่อยู่ฝั่งเดียวหรือตรงข้ามกับเรา การได้ข้อมูลจากบุคคล หรือทุกกลุ่มโดยไม่ลำเอียงจะสนับสนุนการตัดสินใจหรือการคิดเชิงมีวิจารณญาณให้มีคุณภาพได้
9) ผู้บริหารหรือบุคลากรไม่ควรทำเป็นแสร้งรู้ในทุกเรื่อง
ในบริบทขององค์การอาจกล่าวได้ว่ามีขอบเขตของภารกิจ กลุ่มงานรวมถึงสภาพปัญหาที่ทั้งผู้บริหารและบุคลากรต้องทำการตัดสินใจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถที่จะล่วงรู้สิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องไปทุกเรื่องซึ่งเป็นข้อจำกัดของมนุษย์ทุกคน การแสร้งรู้ไปทุกเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ผิดพลาด นิสัยการคิดเช่นนี้จะกลายเป็นความคุ้นเคยที่ทำให้เราเชื่อว่าเป็นความจริง และจะทำให้เราสับสนระหว่างการคาดเดาของเรากับความรู้จริงของเราได้ และส่งผลต่อการตัดสินใจที่ทำให้คลาดเคลื่อนไปจากความจริง
10) ผู้บริหารหรือบุคลากรอย่าได้มีอคติต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ธรรมชาติขององค์การและสิ่งต่างๆในสังคมนั้นล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าคนส่วนใหญ่นั้นกลับไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะนำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคง มีความรู้สึกกลัว ไม่มั่นใจในอนาคตและเกรงว่าจะแย่ไปกว่าเดิม ในการฝึกที่จะเป็นนักคิดเชิงวิจารณญาณที่ดีนั้น มีความจำเป็นจะต้องระวังอย่าได้มีอติต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องสามารถเห็นโดยรอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความจริง ที่จะสนับสนุนการตัดสินใจให้พ้นจากอคติ อารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัวที่ยึดติดได้ และทำให้การตัดสินใจมีคุณภาพ ถูกต้อง บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคคลและองค์การ
บรรณานุกรม
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2545). ลายแทงนักคิด. กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2547). การคิดเชิงวิพากษ์. กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย.
155 total views, 1 views today