การรายงานทางบัญชีการเงิน (Financial Accounting Report)
ขั้นตอนสุดท้ายในระบบบัญชีคือการจัดทำรายงานทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยรายงานทางการเงินสองประเภทหลัก ได้แก่ งบกำไรขาดทุน และงบดุล ซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจ โดยในบางกิจการมีการจัดทำงบกระแสเงินสดเพิ่มเติมด้วย รายงานทางการเงินนี้จะจัดทำเป็นช่วงเวลา ซึ่งตามปกติคือ 12 เดือนต่อครั้ง หรือตามแต่ผู้บริหารจะกำหนด และตามความต้องการในด้านภาษี (Battistutta and Duncan, 1998)
ประเภทของรายงานทางการเงิน ที่เป็นที่นิยม เช่น
- งบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน แสดงข้อมูลรายได้ที่ได้รับ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้นั้นตามหลักการจับคู่รายการ โดยงบกำไรขาดทุนจะแสดงข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับงวดบัญชีนั้นๆ เช่น 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือนจุดประสงค์ของงบกำไรขาดทุน คือการแสดงให้เห็นถึงผลจากการดำเนินงานในช่วงเวลาหนึ่งว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน และแสดงให้เห็นรายการรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงวดซึ่งเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ
- งบแสดงฐานะการเงิน
งบแสดงฐานะการเงิน จะจัดทำขึ้น ณ วันสิ้นสุดงวดบัญชี โดยจะบันทึกมูลค่าของรายการสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของทั้งหมดที่กิจการมีอยู่ ณ วันที่ที่มีการจัดทำงบดุล ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันนั้น โดยเป็นไปตามสมการบัญชี คือ สินทรัพย์ เท่ากับหนี้สินบวกส่วนของเจ้าของ
- งบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสดแสดงให้เห็นถึงกระแสเข้าและกระแสออกของเงินสดในกิจการ ในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเงินสดนี้หมายถึงเงินสดในมือที่กิจการมีอยู่จริง (Cash on hand) และรายการเทียบเท่าเงินสดซึ่งคือการลงทุนในรายการที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีและรวมอยู่ในการจัดการเงินสดประจำวัน โดยงบกระแสเงินสดประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งแสดงกระแสเงินสดเข้าและกระแสเงินสดออกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกิจการส่วนที่สองคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน ซึ่งเป็นรายการกระแสเงินสดเข้าและกระแสเงินสดออกที่เป็นผลมาจากกิจกรรมการลงทุนในด้านสินทรัพย์ของกิจการ และส่วนที่สามคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ซึ่งแสดงกระแสเงินสดเข้าและกระแสเงินสดออกที่เกี่ยวกับด้านหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นกิจกรรมการจัดหาเงินของกิจการ
วัตถุประสงค์โดยทั่วไปของการรายงานข้อมูลทางการเงิน
การรายงานข้อมูลทางการเงินมีวัตถุประสงค์สำคัญ อาจสรุปได้ 7 ประการดังนี้
- เพื่อให้ทราบถึงตัวเลขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนทุน รายได้ ต้นทุน รายจ่าย ผลกำไร เป็นต้น
- เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุน
- เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจให้สินเชื่อ
- เพื่อประโยชน์ในการประเมินภาวะกระแสเงินสด
- เพื่อให้ทราบถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจของหน่วยงานสิทธิต่อทรัพยากร (ภาวะผูกพันของหน่วยงานในการโอนทรัพย์สินไปให้เจ้าของและบุคคลอื่นๆ) และผลของรายการเหตุการณ์และสถานการณ์แวดล้อมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน และสิทธิในทรัพย์สินนั้น
- เพื่อให้ทราบผลการดำเนินงานและกำไรของหน่วยงาน
- เพื่อให้ทราบสภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้และกระแสเงินทุน
ในการจัดทำงบการเงินที่ดี ย่อมต้องคำนึงถึงวิธีการบัญชีที่ดีด้วย หลักเกณฑ์ในการเลือกวิธีการบัญชี คือ พยายามเลือกวิธีการที่ให้ข้อมูลที่ดีกว่า หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่า โดยมีต้นทุนของการหาข้อมูลนั้นเป็นข้อจำกัด ถ้าประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่เสียไป การเลือกใช้วิธีการบัญชีนั้นจึงจะถือได้ว่าเหมาะสมคุ้มค่า โดยถือหลักความมีนัยสำคัญเป็นเกณฑ์ด้วย
ความแตกต่างระหว่างบัญชีการเงินและบัญชีบริหาร
ตารางที่ 1 ความแตกต่างระหว่างบัญชีการเงิน และบัญชีบริหารสามารถสรุปได้ดังนี้
บัญชีการเงิน |
บัญชีบริหาร |
1. รายงานต่อบุคคลภายนอกกิจการ |
1. รายงานต่อบุคคลภายในกิจการ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ |
2. มุ่งสรุปผลทางการเงินที่มาจากกิจกรรมในอดีต |
2. มุ่งใช้ในการตัดสินใจในอนาคต |
3. ให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์และการตรวจสอบ |
3. ให้ความสำคัญเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ |
4. ข้อมูลจำเป็นต้องมีความแม่นยำสูง |
4. ข้อมูลต้องทันต่อเวลา |
5. จัดทำข้อมูลภาพรวมทั้งกิจการโดยสรุป |
5. จัดทำข้อมูลรายละเอียดแต่ละส่วน แผนกผลิตภัณฑ์ และลูกค้า |
6. ต้องจัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
|
6. ไม่จำเป็นต้องจัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป |
7. จำเป็นต้องจัดทำเพื่อรายงานต่อบุคคลภายนอก |
7. ไม่จำเป็นต้องจัดทำ |
131 total views, 1 views today