Blog 3 (6-4-63) การวิเคราะห์ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อการบริหารสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
Blog 3 (6-4-63)
การวิเคราะห์ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อการบริหารสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หรือสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการโดยไม่มีเจตนาที่จะไว้ขาย และมีอายุการใช้งานนาน ซึ่งอาจจะมีอายุการใช้งานไม่จำกัด (เช่น ที่ดิน) หรือมีอายุการใช้งานจำกัด (เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์)
การลงทุนใน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน มักมีผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากกิจการต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากและการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าประกันภัย และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีผลทำให้จุดคุ้มทุนสูงขึ้น ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจึงต้องอาศัยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ และต้องตัดสินใจโดยมีหลักเกณฑ์สนับสนุนที่สมเหตุสมผล จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่า “การตัดสินใจในวันนี้เป็นเครื่องตัดสินกำไรในอนาคต”
วัตถุประสงค์ของการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
การลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอาจเกิดจากการจัดหา การต่อเติม หรือการทดแทนรายจ่ายเหล่านี้มีความจำเป็นและรีบด่วนแตกต่างกัน บางโครงการอาจรีบด่วน ในขณะที่บางโครงอาจรอได้ บางโครงการอาจมีทางเลือกได้หลายทาง แต่บางโครงการอาจต้องลงทุนโดยไม่มีทางเลือก การบริหารสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้
– เพื่อเลือกโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด
– เพื่อสามารถจัดหาทุนให้เพียงพอกับความต้องการของโครงการลงทุน
– เพื่อกำหนดรายจ่ายในการลงทุนแต่ละงวดให้เหมาะสมกับแผนการลงทุนที่กำหนดไว้
– เพื่อกำหนดจังหวะเวลาที่จะต้องจ่ายเงินลงทุนอย่างเหมาะสม
– เพื่อจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกตามแผนการลงทุน
– เพื่อเปรียบเทียบการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงกับแผนการที่ประมาณไว้
– เพื่อจัดวางระบบบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอย่างเหมาะสม
– เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำให้ประหยัดภาษี
– เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ในสินทรัพย์อย่างเต็มที่
– เพื่อวางแผนในการจัดการดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์
โดยปกติแล้ว ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่พิจารณาตัดสินใจในเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน รวมทั้งลำดับของการลงทุน ซึ่งมักพิจารณาจากผลตอบแทนในการลงทุน ผู้อำนวยการวางแผนทางการเงิน จึงเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถให้ข้อมูลที่จะช่วยผู้บริหารใน การตัดสินใจได้ รวมทั้งจดบันทึกข้อมูลทางบัญชี จัดเตรียมวิธีประเมินผลการปฏิบัติงาน และจัดทำรายงานเพื่อการควบคุม โดยสรุปแล้ว หน้าที่ของผู้อำนวยการวางแผนทางการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน มีดังนี้
1. การจัดเตรียมงบประมาณทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2. การวางระบบการปฏิบัติงาน
3. การกำหนดมาตรฐานหรือแนวทางการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน
4. การพิจารณาแนวทางในการจัดหาสินทรัพย์
5. การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์
6. การกำหนดวิธีการควบคุม
7. การจัดการเกี่ยวกับการประกันภัยสินทรัพย์และการเสียภาษี
การบริหารสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน อธิบายในรายละเอียดได้ ดังนี้
1. การจัดเตรียมงบประมาณทั้งระยะสั้นและระยะยาว
งบประมาณดังกล่าวแสดงถึงจำนวนเงินลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งควรต้องสอดคล้องกับแผนงานธุรกิจ
ในการวางแผนระยะยาวนั้น กิจการควรปรับปรุงแผนงานในช่วง 5 – 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะของธุรกิจ การวางแผนระยะยาวยังต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น วัตถุประสงค์ของกิจการ ขนาดและส่วนแบ่งตลาด สายผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แผนการค้นคว้าวิจัย แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุน เช่น ผลตอบแทนที่ได้รับ เป็นต้น
ส่วนการวางแผนระยะสั้น หมายถึง แผนการที่วางไว้ในแต่ละปี หรือในระยะ 2 – 3 ปี แผนระยะสั้นจะต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับแผนระยะยาว ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาในการวางแผนระยะสั้น ได้แก่ รายได้ ผลตอบแทน ค่าเสื่อมราคา และการวางแผนรายจ่ายลงทุน เป็นต้น
2. การวางระบบการปฏิบัติงาน
การวางระบบการปฏิบัติงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนในสินทรัพย์มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการวางแผน การจัดหา และเลือกแนวทางที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด การวางระบบการปฏิบัติงานดังกล่าวอาจเริ่มตั้งแต่การขออนุมัติการซื้อสินทรัพย์ การสั่งซื้อ การตรวจรับ การจัดทำทะเบียนคุมสินทรัพย์ การตรวจนับสินทรัพย์ ไปจนถึงการจัดทำรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับงบประมาณ
การควบคุมที่สำคัญ มีดังนี้
– กำหนดรหัสสินทรัพย์ ซึ่งแสดงถึงหน่วยงานที่เป็นเจ้าของและที่ตั้งของสินทรัพย์นั้น
– การเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร
– บันทึกค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาในแต่ละครั้ง
– การอนุมัติและค่าใช้จ่ายสินทรัพย์ออกจากบัญชี
– กำหนดให้มีการประกันภัยสินทรัพย์
โดยปกติ กิจการจะใช้บัญชีแยกประเภทเป็นบัญชีคุมยอดและบันทึกรายละเอียดในบัญชีย่อยหรือบัตรประจำสินทรัพย์ แสดงตามตัวอย่างภาพที่ 10.4 ข้อมูลที่ปรากฏในบัญชีย่อย ได้แก่ ชื่อและชนิดของสินทรัพย์ หมายเลขที่ใช้ควบคุม วันที่ซื้อ วิธีการได้มา (ซื้อของใหม่นำไปแลกหรือปรับปรุงสินทรัพย์เก่า) เลขที่ใบสำคัญ (เลขที่ใบสั่งซื้อ ใบกำกับสินค้า ใบโอน) สถานที่ตั้งสินทรัพย์ ราคาทุน (ราคาซื้อ ค่าติดตั้ง ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ราคาซาก อายุการใช้งาน ค่าเสื่อมราคา (วิธีคิดค่าเสื่อมราคา อายุการใช้งาน ค่าเสื่อมราคาประจำปี)
การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ให้ประโยชน์แก่กิจการ ดังนี้
– ให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์
– ใช้เปรียบเทียบข้อมูลในกรณีที่จัดหาสินทรัพย์ใหม่
– ใช้เป็นข้อมูลในการปันส่วนค่าเสื่อมราคาตามศูนย์ความรับผิดชอบ
– ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้
– ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบ อ้างอิงเกี่ยวกับการประกันภัยต่างๆ
– ใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณรายการกำไรหรือขาดทุนจากและค่าใช้จ่ายสินทรัพย์
ฝ่ายบัญชีอาจนำเสนอรายงานอื่นๆ อีก เพื่อประโยชน์ในการควบคุม เช่น รายงานแสดงต้นทุนในการบำรุงรักษาสินทรัพย์ตามชนิดและประเภท รายงานแสดงชั่วโมงว่างของเครื่องจักร ซึ่งแสดงถึงการใช้ประโยชน์เครื่องจักรไม่เต็มที่ เป็นต้น ฝ่ายบัญชีอาจช่วยผู้บริหารในการกำหนดนโยบายค่าเสื่อมราคา โดยขอข้อมูลจากวิศวกรโรงงานหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกวิธีการคิดค่าเสื่อมราคา และอายุการใช้งานที่สะท้อนถึงการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของสินทรัพย์นั้นอย่างดีที่สุด
3. การกำหนดมาตรฐานหรือแนวทางการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน
ผู้บริหารอาจกำหนดมาตรฐานในการประเมินแผนงาน โดยใช้อัตราผลตอบแทนในเงินลงทุนระยะยาว หรืออัตราผลตอบแทนของต้นทุนส่วนที่จ่ายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างของอัตราส่วนดังกล่าว ได้แก่
– อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
– อัตราส่วนยอดขายต่อสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
– อัตราส่วนต้นทุนผลิตต่อสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
4. การพิจารณาแนวทางในการจัดหาสินทรัพย์
ฝ่ายบัญชีสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารในกรณีที่กิจการจะตัดสินใจซื้อหรือเช่าสินทรัพย์ โดยเปรียบเทียบข้อดี ข้อจำกัด ของแต่ละทางเลือก ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น ค่าเสื่อมราคา เงินเฟ้อ ภาษีทรัพย์สิน ข้อผูกพันต่างๆ เป็นต้น
5. การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์
กิจการจะเลือกลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เทคนิคในการวิเคราะห์ โครงการมีหลายวิธี ดังนี้
5.1 ระยะเวลาคืนทุน (Pay Back Period)
การคำนวณระยะเวลาคืนทุนเป็นวิธีง่ายๆ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น วิธีนี้ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนหลังระยะเวลาคืนทุน ไม่ได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่จะได้รับ
5.2 ผลตอบแทนจากการลงทุน (Rate of Return) ซึ่งประกอบด้วย
– วิธีอัตราผลตอบแทนของผู้ดำเนินงาน (Operator’s Method)
อัตราผลตอบแทนของผู้ดำเนินงาน คำนวณโดยนำเงินสดรับต่อปี (กำไรสุทธิสำหรับปีบวกด้วยค่าเสื่อมราคา) หารด้วยเงินทุนเริ่มแรก การคำนวณอัตราส่วนนี้ทำได้ง่ายและสะดวก และนำไปเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ ได้ แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดตรงที่ไม่คำนึงถึงค่าของเงินที่ได้รับคืนมาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ผู้ประเมินผลอาจใช้เงินทุนหมุนเวียนหรือทุนทั้งหมดมาใช้คำนวณแทนเงินทุนเริ่มแรกก็ได้
– วิธีผลตอบแทนของนักบัญชี (Accountant’s Method)
วิธีนี้ประเมินผลตอบแทนของการลงทุนโดยใช้ข้อมูลจากงบการเงิน ซึ่งคำนวณโดยนำกำไรสุทธิหารด้วยเงินลงทุน กำไรสุทธิที่ใช้นี้อาจเป็นกำไรสุทธิก่อนหรือหลังภาษีเงินได้ แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดตรงที่อัตราผลตอบแทนจะแตกต่างกันตามวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาที่กิจการใช้ และไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าปัจจุบันของเงิน
– วิธีผลตอบแทนของผู้ลงทุน (Investor’s Method หรือ Discounted Cash Flow)
วิธีนี้คำนวณโดยนำเงินสดรับหารด้วยเงินลงทุน โดยคำนึงถึงมูลค่าปัจจุบันของเงิน แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่เป็นการคำนวณภายใต้ข้อสมมติที่ใช้อัตราผลตอบแทนเดียวกันตลอดทั้งโครงการ นั่นหมายความว่า หากนำเงินที่ได้รับจากการลงทุนไปลงทุนใหม่จะได้ผลตอบแทนในอัตราเดียวกับการลงทุนครั้งแรก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว กิจการอาจได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ต่างกัน
6. การกำหนดวิธีการควบคุม
เมื่อมีการอนุมัติให้มีการลงทุนในโครงการแล้ว ผู้บริหารจะต้องควบคุมให้การลงทุนเป็นไปตามแผนการที่ได้กำหนดไว้ โดยอาจใช้ระบบการรายงานเป็นเครื่องมือในการควบคุม ซึ่งอาจทำเป็นรายงานเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจริงกับข้อมูลที่ประมาณไว้และวิเคราะห์ผลแตกต่างให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณา
7. การจัดการเกี่ยวกับการประกันภัยสินทรัพย์และการเสียภาษี
กิจการควรจัดให้มีการบันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างเพียงพอเพื่อให้สามารถนำเข้าข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการประกันภัย และการวางแผนทางด้านภาษีอากร
ในการดำเนินธุรกิจ กิจการอาจใช้แหล่งเงินทุนจากแหล่งต่างๆ เช่น การกู้ยืมจากธนาคารและสถาบันการเงิน การระดมทุนจากผู้ถือหุ้น เป็นต้น ผู้บริหารอาจตัดสินใจเลือกแหล่งเงินทุนมากกว่าหนึ่งแหล่ง เพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขและต้นทุนของเงินทุน แล้วเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด
เนื้อหาในบทนี้กล่าวถึง การบริหารหนี้สิน (ซึ่งรวมถึงลักษณะและประเภทของหนี้สิน วัตถุประสงค์ของการบริหารหนี้สิน การวางแผนเกี่ยวกับหนี้สิน เทคนิคการจัดการหนี้สิน และการรายงานเกี่ยวกับหนี้สิน) และการบริหารส่วนของเจ้าของ (ซึ่งรวมถึง การวางแผนและการบริหารโครงสร้างของเงินทุนและต้นทุนของเงินทุน)
943 total views, 1 views today