(ภาษาไทย) ส่วนประกอบหลักของห่วงโซ่อุปทาน
การจัดการห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมการไหลผลิตภัณฑ์ สารสนเทศและเงินตั้งแต่ต้นทางผู้ผลิตวัตถุดิบไปจนถึงผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งจึงมีสมาชิกจำนวนมากและแตกต่างไปตามอุตสาหกรรมและบริษัท ผลิตภัณฑ์ไหลผ่านบริษัทคู่ค้าเหล่านี้ คู่ค้าห่วงโซ่อุปทานแต่ละรายมีภารกิจเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ การเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้จำกัดเพียงตัวผลิตภัณฑ์ แต่ยังครอบคลุมถึงการส่งมอบสินค้าในเวลาและสถานที่ที่ลูกค้าต้องการและลูกค้าพึงพอใจ ส่วนประกอบหลังของห่วงโซ่อุปทานมีดังนี้
- บริษัทแกนนำ ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก สมาชิกเหล่านี้มีอิสระและมีเป้าหมายธุรกิจของตน ซึ่งเป้าหมายอาจไม่สอดคล้องที่จะบรรลุประโยชน์โดยรวมหรือให้ห่วงโซ่อุปทานมีกำไรสูงสุดและลูกค้ามีความพึงพอใจ ดังนั้น ห่วงโซ่อุปทานจะบรรลุกำไรสูงสุดและลูกค้าพึงพอใจสินค้าและบริการจำเป็นต้องมีบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำห่วงโซ่อุปทาน บริษัทแกนนำมีบทบาทในการใช้ความเป็นผู้นำจูงใจให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้าปฏิบัติงานที่เป็นผลดีกับห่วงโซ่อุปทานโดยรวม สิ่งจูงใจที่ประสานประโยชน์ คือ แบ่งปันผลประโยชน์ เน้นไปที่การเติบโตไปด้วยกัน มีการรับภาระความเสี่ยงอย่างเป็นธรรม บริษัทใดจะเป็นแกนนำขึ้นอยู่ที่บทบาทในห่วงโซ่อุปทาน โดยทฤษฎี บริษัทผลิตสินค้าสำเร็จรูปจะเป็นบริษัทแกนนำ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่กฎที่ตายตัว บริษัทแกนนำเป็นบริษัทใดในห่วงโซ่อุปทานก็ได้ที่มีอำนาจและมีภาวะผู้นำในการจัดการห่วงโซ่อุปทานนั้น
- ผู้ผลิตวัสดุ การผลิตสินค้าสำเร็จรูปต้องใช้ปัจจัยการผลิต ปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ วัสดุ วัสดุอาจเป็นชิ้นส่วน ส่วนประกอบ และ/หรือวัตถุดิบ จำนวนผู้ผลิตวัสดุในห่วงโซ่อุปทานแตกต่างไปตามอุตสาหกรรมและบริษัท อุตสาหกรรมประกอบเครื่องบินใช้ชิ้นส่วนจำนวนเป็นแสนชนิด รถยนต์ประมาณ 8,000 ชนิด โรงงานขนมปังใช้วัสดุไม่กี่ชนิด ผู้ผลิตวัสดุจัดแบ่งเป็นชั้น (Tier) ผู้ผลิตวัสดุชั้นที่ 1 คือ ผู้ขายวัสดุให้กับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งอาจมีจำนวนไม่กี่รายหรืออาจมีจำนวนเป็นพันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม ผู้ผลิตวัสดุชิ้นที่ 2 คือผู้ขายวัสดุให้กับผู้ผลิตวัสดุชั้นที่ 1 ชั้นผู้ผลิตวัสดุทอดยาวเป็นลำดับชั้นไปจนถึงผู้ผลิตวัตถุดิบรายแรก (Original Supplier) ซึ่งวัตถุดิบนั้นเกิดจากหรือได้มาจากกระบวนการธรรมชาติ
- ลูกค้า หากแสดงเป็นภาพซัพพลายเออร์ก็จะอยู่ทางซ้ายมือและด้านขวามือก็จะเป็นลูกค้าหรือผู้จัดจำหน่าย ลูกค้าจัดแบ่งเป็นชั้น ลูกค้าชั้นที่ 1 (Tier1 Customer) คือผู้ที่ซื้อสินค้าจากบริษัทแกนนำ ลูกค้าชั้นที่ 2 คือ ผู้ซื้อสินค้าจากลูกค้าชั้นที่ 1 และลูกค้าสุดท้าย คือ ผู้บริโภคซึ่งซื้อสินค้าจากลูกค้าชั้นที่ 2 หรือร้านค้าปลีก จำนวนลูกค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานมีมากและแตกต่างไปตามอุตสาหกรรมและบริษัท
- การขนส่งและสินค้าคงคลัง การขนส่งเป็นเครื่องมือเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ เป็นต้นว่า วัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ วัสดุแปรสภาพ สินค้าสำเร็จรูป ทุกบริษัทในห่วงโซ่อุปทานล้วนแต่มีกิจกรรมขนส่ง การขนส่งจึงเชื่อมต่อระหว่างข้อต่อห่วงโซ่อุปทาน บทบาทการขนส่งด้านโลจิสติกส์นั้นประกอบด้วย การขนส่งขาเข้าซึ่งเป้นวัสดุ การขนส่งจะต้องเชื่อถือได้ เพื่อประกันว่า มีวัสดุใช้เพื่อการผลิต รวมทั้งต้องให้มีต้นทุนขนส่งต่ำ บทบาทขนส่งด้านขาออกเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานผลิตไปยังคลังสินค้าและไปให้ลูกค้า การขนส่งจึงเป็นเครื่องมือกระจายสินค้าไปยังคลังสินค้าและร้านค้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ บริษัทแกนนำจะต้องผลักดันให้สมาชิกห่วงโซ่อุปทานใช้รูปแบบและวิธีขนส่งที่ประหยัด ขณะเดียวกันก็ต้องให้ลูกค้าพึงพอใจบริการขนส่ง
- ปฏิบัติการข้อต่อห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งของบริษัทอาจแตกต่างกันไปนั่นคือ บริษัทอาจมีห่วงโซ่อุปทานมากกว่าหนึ่งห่วงโซ่อุปทานได้ แต่ละข้อต่อในห่วงโซ่อุปทานมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำวัสดุหรือสินค้าไปยังโรงงานหรือผู้บริโภค ภารกิจของแต่ละข้อต่อ ก็คือ ให้กระบวนการทั้งปวงประสานสอดคล้องกันเพื่อให้ผลิตภัณฑ์จัดส่งไปยังขั้นต่อไปในห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพ
- ความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่อุปทานสิ้นสุดภารกิจเมื่อส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภค สินค้าที่ส่งมอบต้องมีคุณค่ากับลูกค้า คุณค่าสินค้าเกิดจากทุกขั้นห่วงโซ่อุปทานสร้างขึ้น รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานนั้นจะต้องตอบสนองความต้องการลูกค้าที่รวดเร็ว อนึ่งความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทานยังครอบคลุมถึงการรับคืนผลิตภัณฑ์ที่บกพร่องหรือเพื่อการซ่อมแซมหรือซ่อมบำรุงให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยาวนาน ความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้นเมื่อทุกขั้นของห่วงโซ่อุปทานปฺฏิบัติภารกิจของตนที่สร้างคุณค่าและส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าโดยมีต้นทุนต่ำ ห่วงโซ่อุปทานที่มีความสมบูรณ์จึงต้องมีการตรวจสอบทุกข้อต่อ เพื่อขจัดความสูญเสียและกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับบริษัทแกนนำที่จะต้องใช้ภาวะผู้นำและสิ่งจูงใจเพื่อให้มีการประสานงาน ทำงานร่วมกันและสมาชิกมุ่งมั่นกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับห่วงโซ่อุปทาน
- สารสนเทศและการสื่อสาร ความรวดเร็วการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขันทางการค้า ห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการที่พึงพอใจของลูกค้าเป็นปัจจัยความยั่งยืนในการแข่งขัน ดังได้กล่าวแล้ว ห่วงโซ่อุปทานมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและมีเงื่อนไขที่คู่ค้าห่วงโซ่อุปทานทั้งหลายจะต้องทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันจะต้องมีระบบและกระบวนการประสานงานกัน เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การประสานงานบรรลุผลคือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
229 total views, 1 views today