(ภาษาไทย) การพัฒนาคนที่ยั่งยืน
การพัฒนาคนที่ยั่งยืน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กิ่งพร ทองใบ
คน หรือ ทรัพยากรมนุษย์ นับว่าเป็นทรัพยากรการบริหารที่สำคัญที่สุด ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( พ.ศ. 2560 – 2579 ) ซึ่งมีเป้าหมายในการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลของภาครัฐ และเอกชนโดยเน้นการเติบโต บนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีหลักพื้นฐานอยู่ที่การพัฒนาตนเอง ( Self Development ) การพัฒนาตนเอง เป้นกระบวนการที่มนุษย์ใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดและเจริญเติบโต ส่วนในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของรัฐบาลอยู่ในรูปของการปฏิรูปการศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่ปฎิบัติตามให้สอดคล้องกับนโยบายชาติ
การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 นับแต่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสภาปฏิรูปกำลังเสนอกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการปฎิรูปการศึกษาถึง 13 ฉบับ และปัญหาการศึกษาในประเทศไทยยังมีปรากฏอยู่มากทำให้เกิดข้อวิตกต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป้นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สำหรับข้อคิดการพัฒนาคนที่ยั่งยืนนี้ขออัญเชิญพระโอวาทของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ประทานแก่บัณฑิตในงานประทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีความดังนี้
“การหยุดการศึกษา คือ การถอยหลัง เพราะคนอื่นเขาก้าวหน้าต่อไป
บัณฑิตจึงไม่มีวันหยุดเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ ตลอดเวลาตลอดชีวิต
วันนี้จึงขอปรารภการสร้างพลังในการพัฒนาตนเอง
พลังในการผลักดันตนเองให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น
ทางพระพุทธศาสนานั้น มี ๕ ประการ คือ “ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา″
หมายความว่า เราต้องมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองกระทำ
จากนั้นมีวิริยะ เกิดความเพียรเกิดความกล้า โดยปราศจากความเกียจคร้าน
มีสติทุกขณะจิตในหน้าที่การทำงานทั้ง พร้อมใช้สมาธิตั้งมั่นจดจ่อแน่วแน่ในเรื่องที่กระทำ
สุดท้ายมีพลังปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ
เมื่อบุคคลใดมีธรรมะ ๕ ประการจะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน”
โอวาทสมเด็จพระสังฆราชในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า “จงอย่าหยุดการเรียนรู้ ถึงแม้จะจบเป็นมหาบัณฑิต และ ดุษฏีบัณฑิตก็ตาม เพราะถ้าหยุด คือ การเดินถอยหลัง และต้องสร้างพลังให้กับตนเองด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ พละ ๕ ประการ ซึ่งเป็นธรรมไปสู่ความสำเร็จทุกเรื่องราว เพราะธรรมข้อแรก คือ ศรัทธา เมื่อศรัทธาแล้วสามารถยกภูเขาทั้งลูกก็ได้ แต่ต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ศรัทธาที่ขาดปัญญาก็เป็นความงมงาย จึงต้องมีสติควบคุมดูแลตลอดชีวิต
———————————————————————————————————————————————
232 total views, 1 views today